วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2554

การประยุกต์ใช้ทฤษฎีพหุปัญญา

คลิกเพื่อดูภาพใหญ่


       ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligence) ของโฮวาร์ด  การ์ดเนอร์  (Howard Gardner)  ในกิจกรรมการเดินทางไกลและอยู่ค่ายพักแรม
       ปัญญาด้านภาษา  ได้แก่  ให้เขียนบันทึกความคิด  ความรู้สึกในการเดินทางไกลและอยู่ค่ายพักแรม
       ปัญญาด้านตรรกะและคณิตศาสตร์  ได้แก่  ให้ทำบัญชีรายรับ – รายจ่ายที่ใช้ในการเตรียมอุปกรณ์หรือจัดเตรียมเสบียงการเดินทางไกลและอยู่ค่ายพักแรม 
       ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์  ได้แก่  การอ่านแผนที่ในการเดินทางไกล  การทำ  Mind mapping  ประสบการณ์ที่ได้รับ
       ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว  ได้แก่  การได้เดินทางไกล  การแสดงรอบกองไฟ  (การแสดงละคร  การเต้นรำ)  การออกกำลังกายตอนเช้า  การเล่นเกมตามฐานต่าง ๆ
       ปัญญาด้านดนตรี  ได้แก่  การร้องเพลง  นันทนาการทางด้านดนตรี  ให้แต่เพลงเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ได้รับ
       ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์  ได้แก่  การเดินทางเป็นหมู่คณะ  การร่วมกันทำและรับประทานอาหารในค่าย  การทำงานเป็นหมู่คณะ
       ปัญญาด้านตนหรือการเข้าใจตนเอง  ได้แก่  การทำสังคมมิติหลังจากการเดินทางไกลและอยู่ค่ายพักแรมเสร็จสิ้น  (ใครมีน้ำใจ  ใครมีน้ำใจ  เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เพื่อน  ใครเห็นแก่ตัว)  ฝึกการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม  ฝึกการมีวินัย  เสียสละ  อดทน
       ปัญญาในการเข้าใจสภาพธรรมชาติ  ได้แก่  การให้เขียนชื่อต้นไม้  ดอกไม้  ที่พบระหว่างการเรียนทางไกล  ให้บรรยายสภาพบรรยากาศ  สภาพของป่าไม้ที่พบระหว่างทาง

       ตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  5  จากประสบการณ์ที่เคยใช้ในห้องเรียน  เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทางด้านพหุปัญญา  (Multiple Intelligences Theory of learning)  ตามทฤษฎีของการ์ดเนอร์  (Howard Gardner)  8  ด้าน  ดังนี้
       1.  ปัญญาด้านภาษา  (Linguistic Intelligences) กล่าวคือ
       ที่โรงเรียนจะใช้วิธีการให้นักเรียนเดินเรียนตามห้องเรียนต่าง  ๆ ในแต่ละชั่วโมง  โดยครูจะนั่งประจำอยู่ที่ห้องเรียน
       ก่อนครูจะทำการสอน  ถ้ามีนักเรียนส่วนใหญ่มาถึงที่ห้องเรียนแล้ว  และระหว่างรอนักเรียนบางส่วนที่กำลังเดินทางมา  เพื่อไม่ให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์  ครูก็จะเปิดคลิปเสียง  หรือไม่ก็คลิปวีดีโอ  หรือสื่อต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจที่มีเนื้อเรื่องความยาวไม่เกิน  10  นาที  สามารถดาวน์โหลดได้จาก  YouTube  หรือเว็บต่าง ๆ หรือเปิดให้นักเรียนดูแบบออนไลน์  (ถ้าวันนั้นอินเตอร์เน็ตที่โรงเรียนไม่มีปัญหา)  ได้แก่  คลิปวีดีโอและคลิปเสียงบรรยายธรรมะของท่าน  ว.วชิรเมธี  ที่ได้จัดทำไว้ให้ผู้ที่สนใจศึกษาธรรมะได้ดาวน์โหลดกันแบบฟรี ๆ,  นิทานธรรมะสอนคุณธรรมที่อยู่ในรูปของคลิปวีดีโอการ์ตูน  animation,  คลิปการรณรงค์ต่าง ๆ จาก  สสส  เช่น  เกี่ยวกับความสามัคคี  ความพอเพียง  วันพ่อ  วันแม่  งดเหล้าเข้าพรรษา  เลิกเหล้าเลิกจน  การไม่สูบบุหรี่  เป็นต้น
       วิธีการนี้ทำให้ผู้เรียนได้ฝึกการดู  การฟัง  การคิด  การวิเคราะห์ตีความทางภาษา  (โดยเฉพาะภาษาธรรมะ)  สำรวจพฤติกรรมของตน  จนกระทั่งนำสิ่งที่ฟังหรือดูไปประยุกต์ใช้ในอนาคต  เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนให้เป็นไปในทางที่ดีต่อไป  ถือเป็นการเป็นสอดแทรกคุณธรรมและจริยธรรมในรายวิชาคณิตศาสตร์ให้กับนักเรียนโดยที่ไม่รู้ตัวอีกด้วย  (แบบเนียน ๆ )
       (ถ้ารายการเสียงตามสายในโรงเรียนนำคลิปเสียงบรรยายธรรมะที่น่าสนใจไปเปิดแทรกในการจัดรายการประมาณสัก  5 – 10  นาที  คงจะมีส่วนช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดีของนักเรียนในโรงเรียนได้บ้าง  และคงจะดีกว่าการที่ครูเวรมาอบรมสั่งสอนนักเรียนในตอนเช้า  เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ตั้งใจฟัง  และตอนเช้าแดดค่อนข้างร้อนทุกคนก็ร้อน)
       และได้แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม  กลุ่มละ  5 - 6  คน  ให้แต่ละกลุ่มแต่งโจทย์คณิตศาสตร์ในเรื่องที่ได้เรียนมา โดย
       -  แต่งโจทย์เลียนแบบตัวอย่าง
       -  แต่งโจทย์ให้แตกต่างจากตัวอย่าง
       -  แต่งโจทย์ให้เป็นวรรณกรรมทางคณิตศาสตร์ที่มีภาพประกอบกันเป็นเรื่องราว
       ให้นักเรียนที่เรียนชุมนุมคณิตศาสตร์  ทำการศึกษาค้นคว้าจัดทำบัญชีคำศัพท์คณิตศาสตร์  (ภาษาไทย – ภาษาอังกฤษ)  และจัดทำบัญชีสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์  ที่ได้เรียนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
       2.  ปัญญาด้านตรรกะและคณิตศาสตร์  (Logical – Mathematical Intelligences)  กล่าวคือ
       ในการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาคณิตศาสตร์  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  5  นั้น  ระหว่างจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้น  ได้ดำเนินการสอนผู้เรียนใช้กระบวนการคิดทางคณิตศาสตร์  ได้แก่ 
       กระบวนการสร้างทักษะคำนวณ 
       1.  ตรวจสอบความคิดรวบยอด
       2.  สรุปเรื่องเป็นกฎ  สูตร  ทฤษฎี
       3.  ฝึกการใช้กฎ
       4.  ปรับปรุงแก้ไข
       กระบวนการแก้โจทย์ปัญหา
       1.  วิเคราะห์โจทย์
       2.  กำหนดขั้นตอนปฏิบัติ
       3.  ลงมือปฏิบัติ
       4.  ตรวจสอบคำตอบ
       3.  ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์  (Visual – Spatial Intelligences) กล่าวคือ
       ในการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาคณิตศาสตร์  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  5  เรื่องการหาค่าของฟังก์ชันโกณมิติอย่างง่าย  ได้สอนให้ผู้เรียนนึกภาพ  หรือวาดภาพเส้นทางของรัศมีในการวัดมุมบนระบบพิกัดฉากภายในควอดรันด์ที่  1 – 4  แล้วจะสามารถหาค่าของฟังก์ชันดังกล่าวได้  นอกจากนี้ยังให้นักเรียนทำ  Mind mapping  ขั้นตอนในการทำโจทย์คณิตศาสตร์บางเรื่องที่มีความซับซ้อน
       4.  ปัญญาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว  (Bodily – Kinesthetic Intelligences)  กล่าวคือ
       ได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  5  ภาคเรียนที่  2  บทที่  2  เรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น  หัวข้อการแจกแจงความถี่ของข้อมูล  ได้แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม  กลุ่มละ  5 - 6  คน  ให้ออกไปสำรวจจำนวนของวัตถุ  หรือสิ่งของที่มีอยู่ภายในบริเวณโรงเรียน  ในช่วงเวลาที่กำหนด  พร้อมทั้งแสดงความรู้สึก  หรือความคิดเห็นต่อจำนวนที่ได้ทำการสำรวจ  เช่น  จำนวนรถจักยานยนต์ที่จอดอยู่ภายนอกโรงรถ  จำนวนชิ้นขยะที่ถูกทิ้งอยู่ที่โรงอาหาร  จำนวนรถยนต์พร้อมทั้งจำแนกตามยี่ห้อ  หรือตามสี  จำนวนต้นไม้จำแนกตามชนิด  จำนวนของนักเรียนที่นั่งอยู่ที่โรงอาหารในช่วงเวลาเรียน  จำนวนของนักเรียนที่เล่นกีฬาในช่วงตอนพักเที่ยงจำแนกตามประเภท  เป็นต้น 
       5.  ปัญญาด้านดนตรี  (Musical Intelligences)  กล่าวคือ
       ได้แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม  กลุ่มละ  5 - 6  คน  ให้แต่ละกลุ่มแต่งเพลงโดยมีเงื่อนไขว่าในเนื้อเพลงต้องมีสูตรคณิตศาสตร์แทรกอยู่ด้วย
       นอกจากนี้ยังได้อาศัยดนตรีเป็น  background  ในระหว่างที่นักเรียนทำแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์  โดยครูจะได้เปิด  “The  Mozart  Effect”  (ดนตรี  Mozart  เพื่อพัฒนาศักยภาพสมอง)  ที่เรียบเรียงใหม่โดย  ดอน  แคมป์เบลล์  Volume  4  Focus  And  Clarity  (ดนตรีเพื่อสร้างสมาธิในการเรียนและการทำงาน)  จากที่ได้ทำการเปิดให้นักเรียนฟัง  สังเกตพบว่านักเรียนมีสมาธิในการทำงานมากขึ้น
       6.  ปัญญาด้านมนุษยสัมพันธ์  (Interpersonal Intelligences)  กล่าวคือ
       ได้แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม  กลุ่มละ  5 - 6  คน  โดยสมาชิกแต่ละคนมีหน้าที่รับผิดชอบที่จะเรียนรู้เนื้อหา  วิธีการทำแบบฝึกหัดที่ครูสั่งให้ทำ  เพราะถ้าครูสุ่มให้สมาชิกคนใดคนหนึ่งในกลุ่มออกไปทำแบบฝึกหัดที่หน้าชั้นเรียน  แล้วสมาชิกคนนั้นต้องสามารถทำ  และอธิบายวิธีการทำได้ 
       วิธีการนี้จะทำให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มมีความรับผิดชอบร่วมกัน  นักเรียนที่เก่งจะต้องช่วยสอนเพื่อนที่อ่อนกว่า  ทำให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กันภายในกลุ่ม
       เมื่อนักเรียนในแต่ละกลุ่มทำแบบฝึกหัดเสร็จแล้ว  ครูก็จะอธิบายเพิ่มเติมจากวิธีการทำของนักเรียน  เพื่อเป็นการเน้นย้ำความเข้าใจของนักเรียนอีกครั้งหนึ่ง
       7.  ปัญญาด้านตนหรือการเข้าใจตนเอง  (Intrapersonal Intelligences)  กล่าวคือ
       ในบางเนื้อหาที่ง่ายต่อการเรียนรู้ก็จะให้นักเรียนได้ศึกษาด้วยตนเองโดยใช้หนังสือเล่มเล็กสำหรับเป็นเอกสารประกอบการสอนเป็นรายชั่วโมงที่จัดทำเป็นเรื่อง ๆ ตามเนื้อหาที่หลักสูตรกำหนดไว้  และได้แบ่งเนื้อหาออกเป็นรายชั่วโมง  โดยได้ดำเนินการเขียนเพิ่มเติมเนื้อหา  รูปภาพ  รายละเอียด  เทคนิค  วิธีการคิด  ให้ง่ายต่อการเรียนรู้  และทบทวนความรู้พื้นฐานเดิมในบางเรื่อง  มีขนาดเล็ก  อ่านจบเร็ว  ทำให้เกิดแรงจูงใจในการศึกษาค้นคว้า  ใฝ่รู้ใฝ่เรียน
       อีกทั้งในเอกสารประกอบการสอนเป็นรายชั่วโมงจะมีเนื้อหาและแบบฝึกหัดพร้อมเฉลย  ให้ผู้เรียนได้ศึกษาและตรวจสอบผลการทำแบบฝึกหัดด้วยตนเอง
       นอกจากนี้ยังให้นักเรียนทำสังคมมิติภายในกลุ่ม  ให้นักเรียนภายในกลุ่มตอบคำถาม  เช่น  ฉันอยากอยู่กลุ่มกับใคร  ใครเป็นผู้มีน้ำใจ  เอื้อเฟื้อ  ช่วยเหลือเพื่อน  ใครไม่ช่วยเพื่อนทำงาน  ใครคุยเก่ง  เพื่อเป็นการให้นักเรียนได้รู้จักตนเอง  และพัฒนาปรับปรุงตนเองให้มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ต่อไป
       จากการทำสังคมมิติ  จะพบว่าสังคมมิติเป็นเครื่องมือที่ช่วยในศึกษานักเรียนเป็นรายบุคคล  โดยการจัดสถานภาพทางสังคม  หรือการจัดให้นักเรียนแต่ละคนมีหน้าที่ความรับผิดชอบ  และได้เรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่มทำให้ทราบถึงสภาพหรือความสัมพันธ์ของนักเรียนที่อยู่สังคมเดียวกัน  หรือกลุ่มเดียวกัน  ทำให้ทราบถึงบุคลิกภาพของนักเรียนที่มีผลต่อสภาพสังคมรอบ ๆ ทำให้ทราบความรู้สึกของนักเรียนแต่ละคนที่มีต่อเพื่อนร่วมกลุ่มของตน
       8.  ปัญญาในการเข้าใจสภาพธรรมชาติ  (Naturalist Intelligences)  กล่าวคือ
       ให้นักเรียนที่เรียนชุมนุมคณิตศาสตร์  ได้สำรวจคณิตศาสตร์ในธรรมชาติที่นักเรียนสามารถสังเกตเห็น  เช่น
       -  การสมมาตรของใบไม้  ใบหน้าของคนหรือสัตว์  ตัวผีเสื้อ
       - อัตราส่วนของดอกไม้กับต้นของดอกไม้ในแต่ละชนิด
       -  อัตราส่วนของข้อมือกับนิ้วมือของคน
       -  อัตราส่วนของข้อศอกกับแขนของคน
                     ฯลฯ

       นอกจากการใช้ทฤษฎีพหุปัญญาแล้ว  ยังได้ประยุกต์ใช้ทฤษฎีการเสริมแรง  ของสกินเนอร์  (Skinner)  อีกด้วย  กล่าวคือ
       เมื่อนักเรียนทำความดีก็จะได้รับการบันทึกคะแนนของความดีนั้นลงในบัญชีการทำความดีของห้องเรียน  โดยจะทำการสะสมคะแนนไปเรื่อย ๆ  เพื่อเก็บไว้เป็นส่วนลดปริมาณการทำงานที่ต้องทำซ่อมในกรณีที่นักเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำในผลการเรียนรู้ที่คาดหวังบางข้อหรือบางชั่วโมง  และนักเรียนสามารถตรวจสอบคะแนนของตนได้ตลอดเวลา
       กิจกรรมการทำความดีที่เกิดขึ้นในห้องเรียน  ได้แก่
     -  การร่วมกันทำความสะอาดห้องเรียนในแต่ละวันเป็นกลุ่ม  กลุ่มละ  6  คน  โดยสมาชิกในกลุ่มจะแบ่งหน้าที่กันคือ  ลบกระดานและจัดโต๊ะจำนวน  1  คน  กวาดและถูพื้นห้องจำนวน  4  คน  เทถังขยะจำนวน  1  คน
     -  การตั้งคำถามและการตอบคำถามที่เกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียนในแต่ละชั่วโมงในระหว่างการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียนอาจเป็นกลุ่มหรือรายบุคคลก็ได้
     -  การศึกษาค้นคว้าทางคณิตศาสตร์โดยการหาโจทย์ที่นักเรียนสนใจมานำเสนอที่ป้ายนิเทศในห้องเรียน
       ในกรณีที่นักเรียนห้องใดที่ไม่มีความสนใจ  ตั้งใจเรียน  และมีชื่อเสียงทางด้านการหนีเรียน  ครูก็จะใช้วิธีการสอนโดยให้ทำงานส่งท้ายชั่วโมงทุกชั่วโมง  ครูจะต้องเช็คชื่อนักเรียนตามชิ้นงานที่ส่งเท่านั้น  และทุกชิ้นงานจะมีคะแนน  วิธีนี้ครูต้องมีความขยันเอาใจใส่ในการตรวจชิ้นงานของนักเรียนเป็นพิเศษ  ที่ผ่านมาวิธีนี้มีความจำเป็นที่จะต้องนำไปใช้กับนักเรียนที่เรียนในแผนการเรียนทั่วไป
       จากการนำวิธีนี้ไปใช้  ปรากฏว่านักเรียนไม่หนีเรียน  มีความกระตือรือร้นในการเรียน  และตั้งใจทำงานมากขึ้น  เพราะชิ้นงานที่ส่งมีผลสะท้อนเสมอ
       ให้นักเรียนได้ใช้การวิจัยเป็นฐานในการเรียนรู้  มาประยุกต์ใช้ในระดับที่ตนสอน  กล่าวคือ
       ให้นักเรียนได้จัดทำโครงงานตามความสนใจ  ในลักษณะของงานวิจัยขนาดเล็ก  ที่ประกอบด้วยเนื้อหา  5  บท  เหมือนงานวิจัยทั่วไปคือ  ความเป็นมาของปัญหา  เอกสารและเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง  วิธีดำเนินการศึกษาค้นคว้า  ผลการวิเคราะห์ข้อมูล  สรุปผลการศึกษาค้นคว้า  ซึ่งเป็นโครงงาน
เชิงสำรวจ  โดยการประยุกต์ใช้ความรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์  พื้นฐาน  ภาคเรียนที่  2  บทที่  3  เรื่องการสำรวจความคิดเห็น  ให้นักเรียนทำเป็นกลุ่ม  โดยแบ่งเป็นกลุ่มละ  6  คน  และได้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง  วิเคราะห์ข้อมูลคนละระดับชั้นตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1 – 6  จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาสรุปเป็นค่าเฉลี่ยรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอีกครั้งหนึ่ง  จนได้ข้อมูลรวมทั้งโรงเรียน  ถ้ามีเรื่องใดที่นักเรียนทำการสำรวจและเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อทางโรงเรียน  ครูจะนำรายชื่อนักเรียนกลุ่มนั้นและผลการสำรวจความคิดเห็นเสนอต่อฝ่ายบริหารให้พิจารณาใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้ต่อไป
       ได้สอนโดยการบูรณาการวิชาคณิตศาสตร์กับวิชาศิลปะ  กล่าวคือ
       -  ครูได้ให้นักเรียนบูรณาการรายวิชาศิลปะกับการเขียนสูตรคณิตศาสตร์  หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “สูตร Art”  นักเรียนได้นำลายไทยมาประดิษฐ์เป็นสูตรคณิตศาสตร์  บ้างก็ดัดแปลงเป็นรูปการ์ตูน  ตามจินตนาการ  แล้วตกแต่งใส่สีสันอย่างสวยงาม  จะพบว่านักเรียนแต่ละคนจะมีความคิดสร้างสรรค์แตกต่างกันไปตามความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคล  ถ้าผลงานนักเรียนคนใดอยู่ในระดับดีครูก็จะติดโชว์ไว้ที่ป้ายแสดงผลงานในห้องเรียน  จากนั้นครูก็ทำเป็นคลิปวิดีโอรวมสูตรที่อยู่ในระดับดีแล้ว  Upload  ไปโชว์ไว้ที่  YouTube  (http://www.youtube.com/bomeryy)  เพื่อให้เพื่อนและผู้อื่นได้ชื่นชมต่อไป
       ตัวอย่างผลงานของนักเรียนในการบูรณาการรายวิชาศิลปะกับการเขียนสูตรคณิตศาสตร์
  
          จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการนำทฤษฎีการเรียนรู้ไปใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนห้องเรียนคณิตศาสตร์  ซึ่งสามารถใช้ได้ตามความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน  ความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียนในแต่ละรุ่น  และความเหมาะสม  ความเพียงพอของเวลาที่ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในแต่ละภาคเรียนประกอบกัน  ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบริบทของโรงเรียนที่ได้ปฏิบัติการสอนอยู่ในปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ป้ายกำกับ (จำนวนเรื่อง)

โปรแกรมครูบ๋อม (69) เกี่ยวกับครูบ๋อม (64) เรียนคณิตศาสตร์ (56) ฝากเผยแพร่บทคัดย่องานวิจัย (43) Form/ข้อเสนอแนะ (32) การวัดและประเมินผล (24) ตรีโกณมิติ (23) วลี กลุ่มคำ แผนภาพ (20) สวนข้างหน้าต่าง (20) เกษตรเกินไม่เป็นตัวอย่าง (20) ยุทธวิธีการสอนของครูบ๋อม (19) SGS (18) เทคโนโลยีและนวัตกรรม (17) ปพ.5 (.xlsx) (16) โจทย์คณิตศาสตร์ (16) Classroom (14) คำอธิบายรายวิชา (14) สถิติและการวิจัย (14) แผนการจัดการเรียนรู้ (13) ความคิดเห็นของครูบ๋อม (11) วิทยฐานะและการประเมิน (11) ฟังก์ชันลอการิทึม (10) ฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียล (10) สิ่งที่น่าสนใจ (9) การประเมินภายในและภายนอก (7) ยุวกาชาด (7) จำนวนเชิงซ้อน (6) ฟังก์ชันตรีโกณมิติ (6) มส (6) ตัวชี้วัด/ผลการเรียนรู้/วัตถุประสงค์ (5) SDQ (3) เวกเตอร์ (3) การจัดหมู่ (2) ค32101 (2) ค32201 (2) จำนวนจริง (2) พหุนาม (2) ร่วมรณรงค์/เทศกาล (2) O - Net (1) STAD (1) ZipGrade (1) ZipGrade การวัดและประเมินผล (1) การสร้าง (1) การเรียงสับเปลี่ยน (1) ความน่าจะเป็น (1) ทศนิยม (1) บันทึกข้อความ (1) ลอการิทึม (1) สมการพหุนาม (1) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (1) เลขยกกำลัง (1) เศษส่วน (1) เอกซ์โพเนนเชียล (1) แนะแนวประสาครูบ๋อม (1)

บทความที่ได้รับความนิยมใน 7 วัน