วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

หลักการและวัตถุประสงค์กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

            หลักการและวัตถุประสงค์กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนสำหรับประกอบการจัดทำ ปพ.5

กิจกรรมแนะแนว
หลักการของกิจกรรมแนะแนว
             การจัดกิจกรรมแนะแนวต้องส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้  อันจะนำไปสู่สมรรถนะที่สำคัญ 5 ประการ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ โดยนำไปบูรณาการในการจัดกิจกรรมตามลักษณะของกิจกรรมแนะแนวที่ระบุไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 อีกทั้งยังต้องส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะชีวิตโดยมุ่งจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา ความต้องการ ความสนใจ ธรรมชาติของผู้เรียนและวิสัยทัศน์ของสถานศึกษา ที่ตอบสนองจุดมุ่งหมายหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2551 ให้ครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา ด้านอาชีพ รวมทั้งด้านส่วนตัวและสังคม  เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยผู้เรียนมีอิสระในการคิดและตัดสินใจด้วยตนเอง เรียนรู้ด้วยตนเอง  ด้วยการปฏิบัติจนกระทั่งเกิดทักษะชีวิต ตลอดจนครูทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม โดยมีครูแนะแนวเป็นพี่เลี้ยงและประสานงาน

วัตถุประสงค์กิจกรรมแนะแนว
             1. เพื่อให้ผู้เรียนรู้จัก เข้าใจ รัก และเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น
             2. เพื่อให้ผู้เรียนสามารถวางแผนการเรียน อาชีพ รวมทั้งการดำเนินชีวิตและสังคม
             3. เพื่อให้ผู้เรียนสามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

กิจกรรมชุมนุม
หลักการของกิจกรรมชุมนุม
             กิจกรรมชุมนุม ชมรม มีหลักการที่สำคัญดังนี้
             1. เป็นกิจกรรมที่เกิดจากการสร้างสรรค์และออกแบบกิจกรรมของผู้เรียนตามความสมัครใจ
             2. เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนร่วมกันทำงานเป็นทีม ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และช่วยกันแก้ปัญหา
             3. เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน
             4. เป็นกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยและวุฒิภาวะของผู้เรียน รวมทั้งบริบทของสถานศึกษาและท้องถิ่น

วัตถุประสงค์กิจกรรมชุมนุม
             1. เพื่อให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมตามความสนใจ ความถนัด และความต้องการของตน
             2. เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาความรู้ ความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ให้เกิดประสบการณ์ทั้งทางวิชาการและวิชาชีพตามศักยภาพ
             3. เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม
             4. เพื่อให้ผู้เรียนทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ตามวิถีประชาธิปไตย

กิจกรรมยุวกาชาด
หลักการของกิจกรรมยุวกาชาด
             กิจกรรมยุวกาชาดมีหลักการของการจัดกิจกรรม ดังนี้
             1. เป็นกิจกรรมที่สร้างพื้นฐานในการคิดและปฏิบัติตามหลักการกาชาดและยุวกาชาด  กฎหมายมนุษยชน และสิทธิมนุษยชน รวมทั้งทักษะในการจัดการ ทักษะในการดำเนินชีวิต สามารถคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาได้
             2. มีความเป็นเอกภาพและมีความหลากหลายในกิจกรรม กล่าวคือ เป็นกิจกรรมที่มีโครงสร้างหลักสูตรยืดหยุ่น ทั้งนี้เพื่อความจำเป็นและความสอดคล้องสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นไทย และความเป็นพลเมืองดีของชาติ
             3. สามารถสนองตอบต่อสภาพความต้องการที่แท้จริงของสถานศึกษาและท้องถิ่น

วัตถุประสงค์กิจกรรมยุวกาชาด
             1. มีอุดมคติในศานติสุข มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
             2. มีความรู้ ความชำนาญในเรื่องการรักษาอนามัยของตนเองและผู้อื่น ตลอดจนพัฒนาตนเองทางร่างกาย จิตใจ คุณธรรรม และธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ
             3. มีความรู้ ความเข้าใจในหลักการและอุดมการณ์กาชาด มีคุณธรรรมจริยธรรม และมีจิตใจเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์
             4. บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
             5. มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
             6. มีสัมพันธภาพและมิตรภาพที่ดีต่อบุคคลทั่วไป

กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์
หลักการของกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์
             กิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์ เป็นกระบวนการในการทำงานเพื่อให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรีมีโอกาสเท่าเทียมกันในการพัฒนาตนเองให้เต็มตามศักยภาพ โดยในการฝึกจะต้องให้สมาชิกได้รับการพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพและครบถ้วนทั้ง ๖ ด้าน คือ ร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา  จิตใจ และคุณธรรม

วัตถุประสงค์กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์
             1. เพื่อให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรีมีอุปนิสัยที่ดีตามแนวทางของคำปฏิญาณและกฎ
             2. เพื่อเตรียมเด็กผู้หญิงและเยาวสตรีให้มีทักษะชีวิตที่เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน
             3. เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรีได้ฝึกทักษะการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี
             4. เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรีได้รู้จักช่วยเหลือผู้อื่นและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

กิจกรรรมลูกเสือ-เนตรนารี
หลักการของกิจกรรมลูกเสือ – เนตรนารี
             กระบวนการลูกเสือมีหลักการสำคัญ ดังนี้
             1. มีศาสนาเป็นหลักยึดทางจิตใจ จงรักภักดีต่อศาสนาที่ตนเคารพนับถือ และพึงปฏิบัติศาสนกิจด้วยความจริงใจ
             2. จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และประเทศชาติของตน พร้อมด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนสันติสุขและสันติภาพ ความเข้าใจที่ดีซึ่งกันและกัน และความร่วมมือซึ่งกันและกันตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ
             3. เข้าร่วมพัฒนาสังคม ยอมรับและให้ความเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้อื่นและเพื่อนมนุษย์ทุกคน รวมทั้งธรรมชาติและสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก
             4. มีความรับผิดชอบต่อการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
             5. ลูกเสือทุกคนต้องยึดมั่นในคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ

วัตถุประสงค์กิจกรรมลูกเสือ – เนตรนารี
             1. ให้มีนิสัยในการสังเกต จดจำ เชื่อฟัง และพึ่งตนเอง
             2. ให้มีความซื่อสัตย์สุจริต มีระเบียบวินัย และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
             3. ให้รู้จักบำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์
             4. ให้รู้จักทำการฝีมือและฝึกฝนการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
             5. ให้รู้จักรักษาและส่งเสริมจารีตประเพณี วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศชาติ

กิจกรรมนักศึกษาวิชาทหาร
หลักการของกิจกรรมนักศึกษาวิชาทหาร
             กิจกรรมนักศึกษาวิชาทหารเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นตามความสามารถ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียน มีหลักการสำคัญดังนี้
             1. เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นตามความสมัครใจของผู้เรียน
             2. เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนตระหนักว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชาติ จึงต้องมีความรัก  ความหวงแหน สามารถที่จะเสียสละ และอุทิศชีวิตให้กับชาติ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนแต่อย่างใด
             3. เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนมีความรู้และประสบการณ์ในวิชาทหารที่เหมาะสม มีทัศนคติที่ดี  เชื่อมั่น ศรัทธาในกองทัพ และมีความพร้อมที่จะเข้ารับใช้ชาติในฐานะกำลังพลสำรอง ที่มีคุณภาพของกองทัพ เมื่อสำเร็จการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรด้วยความเต็มใจ
             4. เป็นกิจกรรมที่เป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างทหาร กับประชาชนรวมทั้งสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชนในสังคม โดยเฉพาะในเรื่องการรณรงค์ เพื่อป้องกันและต่อต้านยาเสพติด

วัตถุประสงค์กิจกรรมนักศึกษาวิชาทหาร
             1. เพื่อให้สอดคล้องกับความถนัด ความสามารถ และความสนใจของผู้เรียน
             2. เพื่อให้นักเรียนทั้งชายและหญิงที่สมัคร มีความรู้วิชาทหารทั้งในทางเทคนิคและทางยุทธศาสตร์
             3. เพื่อปลูกฝังให้มีอุดมการณ์ เทิดทูน และยึดมั่นในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีจิตสำนึกในเรื่องชาตินิยม
             4. เพื่อเสริมสร้างให้เป็นผู้มีระเบียบวินัย ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีของชาติ มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง มีความอดทน และอดกลั้น
             5. เพื่อส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ และดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชนอย่างกว้างขวาง จริงจัง และต่อเนื่อง
             6. เพื่อเสริมเสร้างให้มีความรักและสามัคคีในหมู่คณะด้วยกัน รวมทั้งให้มีความสำนึกในภาระหน้าที่ของตนให้บังเกิดเป็นรูปธรรมและเป็นระบบโดยต่อเนื่อง

กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ 
หลักการของกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์
             กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์เป็นกิจกรรมที่ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและ
พัฒนาการทางสมอง เน้นให้ความสำคัญทั้งความรู้และคุณธรรมจริยธรรม จัดกิจกรรมโดยให้ผู้เรียนคิดสร้างสรรค์ออกแบบกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างหลากหลายรูปแบบ เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในลักษณะจิตอาสา

วัตถุประสงค์กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์
             1. เพื่อปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกให้แก่ผู้เรียนในการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อครอบครัว โรงเรียน ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
             2. เพื่อให้ผู้เรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ตามความถนัดและความสนใจในลักษณะอาสาสมัคร
             3. เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ คุณธรรมจริยธรรม ตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์
             4. เพื่อให้ผู้เรียนมีจิตสาธารณะและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

ที่มา :
แนวทางการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

วัตถุประสงค์กิจกรรมชุมนุมคณิตศาสตร์ ที่ครูบ๋อมสอน
(สาระที่ 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์)
             1. ใช้วิธีการที่หลากหลายแก้ปัญหาได้
             2. แก้ปัญหาในสถานการณ์จริงโดยใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์
             3. ใช้ความรู้ ทักษะ/กระบวนการทางคณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม
             4. นำวิธีการให้เหตุผลแบบอุปนัยและนิรนัยมาช่วยในการค้นหาความจริงหรือข้อสรุป และช่วยในการตัดสินใจบางอย่างได้
             5. ใช้ภาษาและสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ในการสื่อสาร สื่อความหมาย และนำเสนอได้อย่างถูกต้องชัดเจนและรัดกุม
             6. เชื่อมโยงความคิดรวบยอด หลักการ และวิธีการทางคณิตศาสตร์ และศาสตร์อื่น ๆ เพื่ออธิบายข้อสรุปหรือเรื่องราวต่าง ๆ ได้
             7. นำความรู้และทักษะที่ได้จากการเรียนคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ในการเรียนรู้ในงานและการดำรงชีวิต
             8. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการทางาน

วัตถุประสงค์กิจกรรมชุมนุมคิดวิเคราะห์อ่านเขียน
ที่ครูบ๋อมสอน
(สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน
ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551)
             1. ความสามารถในการสื่อสาร เป็นความสามารถในการรับและส่งสาร มีวัฒนธรรมในการใช้ภาษาถ่ายทอดความคิด ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึก และทัศนะของตนเองเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์อันจะเป็น ประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและสังคม รวมทั้งการเจรจาต่อรองเพื่อขจัดและลดปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ การเลือกรับหรือไม่รับข้อมูลข่าวสารด้วยหลักเหตุผลและความถูกต้อง  ตลอดจนการเลือกใช้วิธีการสื่อสาร ที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อตนเองและสังคม
             2. ความสามารถในการคิด เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิดอย่างสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้หรือสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตน เองและสังคมได้อย่างเหมาะสม
             3. ความสามารถในการแก้ปัญหา เป็นความสามารถในการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เผชิญได้อย่างถูกต้องเหมาะสมบนพื้นฐานของหลักเหตุผล คุณธรรมและข้อมูลสารสนเทศ เข้าใจความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสังคม แสวงหาความรู้ ประยุกต์ความรู้มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา และมีการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม
             4. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต เป็นความสามารถในการนำกระบวนการต่าง ๆ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การทำงาน และการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล การจัดการปัญหาและความขัดแย้งต่าง ๆ อย่างเหมาะสม การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม และการรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น
             5. ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เป็นความสามารถในการเลือก และใช้ เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ และมีทักษะกระบวนการทางเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม ในด้านการเรียนรู้ การสื่อสารการทำงาน การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้อง เหมาะสม และมีคุณธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ป้ายกำกับ (จำนวนเรื่อง)

โปรแกรมครูบ๋อม (69) เกี่ยวกับครูบ๋อม (64) เรียนคณิตศาสตร์ (56) ฝากเผยแพร่บทคัดย่องานวิจัย (43) Form/ข้อเสนอแนะ (32) การวัดและประเมินผล (24) ตรีโกณมิติ (23) วลี กลุ่มคำ แผนภาพ (20) สวนข้างหน้าต่าง (20) เกษตรเกินไม่เป็นตัวอย่าง (20) ยุทธวิธีการสอนของครูบ๋อม (19) SGS (18) เทคโนโลยีและนวัตกรรม (17) ปพ.5 (.xlsx) (16) โจทย์คณิตศาสตร์ (16) Classroom (14) คำอธิบายรายวิชา (14) สถิติและการวิจัย (14) แผนการจัดการเรียนรู้ (13) ความคิดเห็นของครูบ๋อม (11) วิทยฐานะและการประเมิน (11) ฟังก์ชันลอการิทึม (10) ฟังก์ชันเอกซ์โพเนนเชียล (10) สิ่งที่น่าสนใจ (9) การประเมินภายในและภายนอก (7) ยุวกาชาด (7) จำนวนเชิงซ้อน (6) ฟังก์ชันตรีโกณมิติ (6) มส (6) ตัวชี้วัด/ผลการเรียนรู้/วัตถุประสงค์ (5) SDQ (3) เวกเตอร์ (3) การจัดหมู่ (2) ค32101 (2) ค32201 (2) จำนวนจริง (2) พหุนาม (2) ร่วมรณรงค์/เทศกาล (2) O - Net (1) STAD (1) ZipGrade (1) ZipGrade การวัดและประเมินผล (1) การสร้าง (1) การเรียงสับเปลี่ยน (1) ความน่าจะเป็น (1) ทศนิยม (1) บันทึกข้อความ (1) ลอการิทึม (1) สมการพหุนาม (1) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (1) เลขยกกำลัง (1) เศษส่วน (1) เอกซ์โพเนนเชียล (1) แนะแนวประสาครูบ๋อม (1)

บทความที่ได้รับความนิยมใน 7 วัน